ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจ โดยแหล่งผลิตไฮโดรเจนที่สำคัญมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ จากสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ประเภทถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ชีวมวล (Biomass) และการผลิตจากนํ้า
เทคโนโลยีที่นิยมและแพร่หลายในปัจจุบันมี 3 เทคโนโลยี ดังนี้
1.เทคโนโลยี Gasification SMR ในการผลิตโฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติ โดยในกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งไฮโดรเจนที่ได้ คือ Gray Hydrogen
2.เทคโนโลยี Gasification SMR ที่มีการดักจับกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) ซึ่งไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะเรียกว่า Blue Hydrogen
หลังจากผลิตไฮโดรเจนได้แล้ว จะจัดเก็บในรูปของไฮโดรเจนเหลว หรือจัดเก็บในรูปของแอมโมเนีย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแบตเตอรี่ โดยสามารถเก็บไว้ได้นานและมีคุณภาพและค่าพลังงานที่ดีกว่าตัวแบตเตอรี่ โดยในอนาคต Gray Hydrogen Blue Hydrogen และ Green Hydrogen จะมีแนวโน้มของราคาที่ลดลงกว่าปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยมีความเป็นไปได้ของการนำไฮโดรเจนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าและในภาคการขนส่ง เป็นเชื้อเพลิงความร้อนในภาคอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ประโยชน์เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการศึกษาศักยภาพของการผลิตไฮโดรเจนในประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในประเทศไทย หากนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตเป็น Gray Hydrogen ในช่วงปี 2569-2593 จะมีศักยภาพของไฮโดรเจนประมาณ 6.22-23.92 ล้านตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ
หากผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติมาผลิตเป็น Blue Hydrogenโดยใช้ เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนจะมีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจนจำนวน 5.87-22.62 ล้านตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ ส่วนการผลิต Green Hydrogen จากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนในปี 2564 พบว่า มีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจนจำนวน 97 ล้านตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ โดยพลังงานไฟฟ้าที่นำมาผลิต Green Hydrogen จะผลิตได้จากโซลาร์เซลล์และพลังงานลม เป็นหลัก
ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สามารถนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าผสมกับก๊าซธรรมชาติได้ โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือร่างแผน PDP 2024 ได้กำหนดให้มีการผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 5 % โดยปริมาตรคิดเป็นไฮโดรเจนได้ประมาณ 130-140 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2573
ทั้งนี้ จากการคำนวณราคาค่าไฟฟ้า หากมีการผสมไฮโดรเจนในสัดส่วน 5% ตามร่างแผน PDP ดังกล่าว ค่าไฟฟ้ายังไม่เกิน 4 บาท ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม การจะนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและความพร้อมของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และลม จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาผลิตเป็นไฮโดรเจน และนำไฮโดรเจนมาผลิตเป็นไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ไม่ได้หวังผลในการช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากยังมีต้นทุนที่สูง แต่อาจจะเป็นประโยชน์ในการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซต์ตามทิศทางของโลกยุคปัจจุบันที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ดังนั้น การส่งเสริมเพื่อนำไฮโดรเจน มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานไม่ว่า จะเป็นการพัฒนาตลาดและการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้ไฮโดรเจน ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้เชื้อเพลิงความร้อน และกลุ่มภาคการขนส่ง ซึ่งในการส่งเสริมในระยะสั้นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งช่วงปัจจุบันจนถึงปี 2573 จะเป็นในลักษณะของการพัฒนาโครงการนำร่อง ส่วนในระยะกลางและระยะยาวภาครัฐควรมีการอุดหนุนด้านราคาหรือการให้แหล่งเงินทุนและมาตรการทางภาษี เป็นต้น
การส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งในระยะสั้นจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น และนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงแรกของการส่งเสริมจะเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมและการปรับตัว เช่น การวางระบบท่อ การกักเก็บและขนส่ง
การพัฒนาสถานี และมาตรการด้านการพัฒนากฎ ระเบียบและมาตรฐาน เช่น การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตและการใช้ มาตรฐานคุณภาพก๊าซธรรมชาติ การจัดเก็บ การขนส่ง เป็นต้น